ค้นหางานด่วน !

ทำไม ทำงาน ไม่ได้งานทำ

หมวดหมู่: ข้อคิดคนหางาน

 

            หลายคนมีงานทำก็จริง แต่ทำไม่ได้นาน ก็ลาออก หรือบริษัทให้ออก ดังตัวอย่างคุณเอ็น วัย 26 ปี เขาเคยเป็นผู้จัดการโครงการ ทำงานกับโรงงานผลิตยา ผลิตรายการทีวีออนไลน์ และเปลี่ยนไปทำงานหลายด้าน แต่งานทุกแห่งเหมือนกัน คือเป็นผู้จัดการดูแลการบริหารงาน

            การเปลี่ยนงานแต่ละครั้ง จึงไม่ได้ทำให้เขามีประสบการณ์อะไรใหม่ ๆ นอกจากความเบื่อหน่าย ซึ่งเขาไม่อยากมีสภาพแบบนี้จึงทำให้เขาเปลี่ยนงานบ่อย และนายจ้างก็อยากให้เขาออก นายคงเห็นว่า เขาทำงานไม่ขมีขมัน หรือตั้งใจพอ ทั้ง ๆ ที่เขาตั้งใจทำ เขาเองก็อยากเปลี่ยนตัวเอง จะได้ประทับใจนายจ้างเขาต่อ หรือทำให้เขามีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม มีงานทำประจำ

            ผู้เขียนไม่ใช่รอบรู้อะไรมากนัก แต่ก็เห็นใจ จึงไปค้นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน ให้ข้อคิดน่าสนใจ

            ท่านแรกให้ข้อคิดว่า ใครก็ตามที่ทำงานไม่ได้นาน หรือไม่ทน เพราะตั้งความหวังไว้สูงเกินไป พอเข้าไปทำงานเข้าจริง ๆ ก็อาจจะไม่รู้สึกน่าทำ หรือน่าสนุก หรือน่าเบื่อหน่าย ถ้าเป็นแบบนี้ เขาไม่ควรตั้งความหวังสูงเกินไป หรือทำงานแบบขอไปที เพราะยังหางานใหม่ไม่ได้ ผลก็คือ งานจะไม่ได้ดี ถ้าพฤติกรรมเกินขึ้นบ่อยไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง บริษัทคงจ้างเขาไม่ได้นาน

            ท่านที่สอง เสริมว่า เขามีลูกน้องคล้าย ๆ กัน โดยไม่รู้ว่าตัวชอบอะไร ถนัดด้านไหน ทั้ง ๆ ที่เขาก็เก่งในสิ่งที่ตัวถนัดแต่ไม่เคยนำมาใช้ เช่น เขาเก่งภาษาจีน แต่ไม่ชอบพูด ให้ไปรับลูกค้าที่มาจากไต้หวัน เขาก็ไม่ค่อยพูดจากับลูกค้าเข้าใจกันเท่าไร เขาจึงเรียกมาถาม ลูกน้องบอกว่า เขาไม่เก่งด้านพูดกับคนแปลกหน้า และยิ่งลูกค้าให้เขียนสิ่งที่ลูกค้าอยากบอก เขายิ่งประหม่า เพราะเขาไม่เก่งด้านการเขียน ผู้เชี่ยวชาญจึงถามเขาว่า แล้วเขาชอบทำอะไร

            ลูกน้องตอบว่า ชอบทำงานที่เกี่ยวกับการออกแบบ เขาจึงให้ไปออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งลูกน้องก็ทำได้ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอยากให้ข้อคิด แก่ผู้สมัครงานทั้งหลายว่า เราต้องรู้ว่า เราถนัดและมีความสามารถสูงสุดและสนใจด้านไหน และพยายามทำด้านนั้นให้ได้ดี นายจะประทับใจ

 

 

            ลูกน้องอีกคน มีความสามารถติดต่อผู้คน แต่นายให้ไปทำงานด้านพัสดุ เขาจึงซังกะตายทำ จนเกือบถูกไล่ออก เรียกว่าให้งานทำไม่เหมาะสมเท่าไร

            ท่านที่หนึ่ง ให้ความคิดเพิ่มว่า ใครก็ตามยังลังเลและไม่รู้ว่าจะทำอะไร น่าจะทดสอบตัวเองว่า เราน่าจะปรับปรุงตรงไหน ไม่ใช่แค่ ไม่รู้จะทำอะไรก็ทำไปก่อน ถ้าคิดแบบนั้น ระหว่างทำ ควรดูตัวเองมีความสนใจ และสามารถทำอะไร แล้วพยายามทำสิ่งที่ตนทำอยู่ให้ประสิทธิผล อย่างน้อยนายจะเห็นว่า เขายังมีความตั้งใจ จะปรับปรุงตัวเอง และเวลาบริษัทมีการอบรมไม่ว่าจากภายในหรือภายนอก น่าจะขอรับฝึกอบรม หากนายไม่เสนอชื่อตอนนั้น โดยขอหัวหน้าว่า ถ้ามีคอร์สคราวต่อไป หัวหน้าจะกรุณาส่งเขาไปจะขอบคุณยิ่ง เพราะจะเป็นประโยชน์แก่งานที่ทำ หัวหน้าส่วนมากอยากให้ลูกน้องที่กระตือรือร้นอยากรับการฝึกอบรม

            ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากในบริษัทของเขาเคยส่งพนักงานไปอบรมนอกสถานที่ หวังจะให้ได้รับความรู้โดยไม่ต้องจำเจอยู่แต่ในสำนักงาน หรืออบรมในที่ทำงาน ปรากฏว่าพนักงานหนีการอบรม เรียกว่าไปเซ็นชื่อ แล้วก็หลบกลับบ้าน นี่คือเหตุหนึ่งที่นายไม่อยากส่งเสริมพนักงานแบบนี้ ไม่พอบางครั้งอาจจะจับดอง คือไม่ให้ทำอะไร หรือมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างก็อาจไม่ได้ทำงานต่อไป

            ท่านที่สอง ให้ข้อคิดต่อว่า เวลาทำงาน ขอให้ทุ่มใจทุ่มเททำงานให้เต็มที่ พูดง่าย ๆ คือขยัน มีมานะ อดทน ไม่ว่างานจะมากแค่ไหน เป็นการรู้จักบริหารเวลา รู้ว่าอะไรควรทำก่อนหลัง ไม่ว่าอยากทำตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ ก่อน หรือยากก่อนก็ตาม

            มีคนไม่น้อย พอเจองานมาก ๆ เข้าก็ท้อใจ และคิดอีกว่า ทำไปก็ไม่คุ้มเงินและเวลา โดยลืมคิดไปว่า งานยิ่งมากเท่าไร เท่ากับทดสอบความสามารถ ความอดทนของเรา

            ก็เหมือนเรียนหนังสือ อาจจะยากลำบากกว่าจะจบ แต่พอจบการศึกษาเราจะได้โอกาสทำงาน ดีกว่าไม่ได้เรียนอะไรมา

            การเคยทำงานมาก ๆ จะทำให้เรามีประสบการณ์การทำงานหนัก ด้วยเหตุนี้ต่อให้เราเปลี่ยนไปทำงานใหม่ เราจะรู้สึกง่ายขึ้น เปรียบเสมือนคนเคยกินเผ็ดจัด ๆ พอเจอพริก จะไม่ค่อยรู้สึกเผ็ด

            สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่านกล่าวมาเป็นเรื่องน่าคิด และน่าสนใจ ใครก็ตามที่ทำงานอยู่ หรือยังไม่ได้ทำงานน่าจะเอาไปเป็นอุทาหรณ์ เรียกว่ารู้ใช่ว่าจะเสีย เพราะมีแต่ได้กับได้

..........................................................

เขียนโดย : อาจารย์สุพัตรา  สุภาพ

 

28 มิถุนายน 2562

ผู้ชม 906 ครั้ง

ผู้เข้าชมเว็บไซต์ : 17696199
Engine by shopup.com